ศัลยกรรมช่องปาก (Dental Surgery)

ศัลยกรรมช่องปาก (Surgery) คือ งานทางทันตกรรมที่เกี่ยวกับการผ่าตัดภายในช่องปาก และขากรรไกร โดยศัลยกรรมช่องปากนั้นเป็นมากกว่าการถอนฟัน หรือ ผ่าฟันคุด แต่ยังเป็นการรักษาร่วมกับงานทันตกรรมประเภทอื่น ๆ อีกด้วย

 

งานศัลยกรรมช่องปาก ที่มักพบได้บ่อย

การถอนฟัน

การผ่าฟันคุด

การเสริมกระดูก

การผ่าตัดยกไซนัส

การผ่าตัดขากรรไกรร่วมกับการจัดฟัน

 

การถอนฟัน

หลายครั้งที่เกิดปัญหาสุขภาพฟันจนจำเป็นต้องทำการถอนฟัน เป็นการรักษาขั้นท้ายสุดที่ทันตแพทย์จะแนะนำ เนื่องจากคนไข้ต้องสูญเสียฟันแท้ธรรมชาติไป

 

สาเหตุที่ต้องถอนฟัน

  1. ฟันผุ กรณีฟันผุมาก ขนาดใหญ่ เป็นระยะเวลานานเกิดการติดเชื้อในโพรงประสาทฟัน จนไม่สามารถรักษาด้วยการอุดฟัน หรือรักษารากฟัน จะมีอาการปวด หากปล่อยไว้อาจส่งผลต่อฟันซี่ข้างเคียง
  2. ฟันหัก กรณีเนื้อฟันแตก หักเหลือน้อยจน ไม่เพียงพอที่จะทำการรักษาด้วยการอุดฟัน หรือครอบฟันได้
  3. โรคเหงือก ในคนไข้ที่มีปัญหาโรคเหงือกรุนแรง จนเกิดการละลายตัวของกระดูกที่รองรับฟัน ฟันโยก ซึ่งทันตแพทย์ประเมินแล้วว่าไม่สามารถรักษาได้ และเป็นผลเสียต่อฟันโดยรวม
  4. ฟันเกิดในตำแหน่งผิดปกติ ซึ่งหากปล่อยไว้อาจส่งผลต่อการขึ้นของฟัน เกิดฟันคุด ฟันฝัง ฯลฯ
  5. การจัดฟัน เป็นการถอนเพื่อให้เกิดช่องว่างในการเรียงฟัน ลดความยื่นของฟัน ซึ่งทันตแพทย์จัดฟันจะเป็นผู้วางแผนว่าต้องมีการถอนในตำแหน่งใด

 

ขั้นตอนการถอนฟัน

  1. ทันตแพทย์อาจทำเอกซ์เรย์ (X-Ray) เพื่อตรวจเช็คสภาพของฟัน รากฟัน และกระดูก เพื่อประเมินการถอนฟัน ป้องกันปัญหาอาจเกิดขึ้นในการถอนฟัน
  2. ฉีดยาชาในบริเวณที่จะทำการถอนฟัน เพื่อให้คนไข้ไม่รู้สึกเจ็บ ในกรณีมีอาการปวดอาจต้องใช้ระยะเวลารอให้ชาเต็มที่นานกว่าปกติ
  3. ทันตแพทย์ทำการถอนฟัน โดยค่อย ๆ แยกฟันออกจากกระดูกโดยเครื่องมือพิเศษ และโยกฟันทีละนิดจนฟันหลุดออกมา
  4. คนไข้กัดผ้าก๊อชที่ผ่านการฆ่าเชื้อประมาณ 60 นาที เพื่อให้เลือดหยุดไหล

 

หากเกิดการสูญเสียฟันไปโดยไม่อยู่ในแผนการรักษาอื่น ๆ ควรมีการใส่ฟันทดแทนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น รากฟันเทียม สะพานฟัน หรือฟันปลอม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบดเคี้ยว เสริมสร้างบุคลิกภาพ และป้องกันปัญหาฟันยืด ฟันล้ม ในฟันซี่ข้างเคียง ซึ่งเกิดจากการเคลื่อนที่เข้าหาช่องว่าง

 

 

การผ่าฟันคุด ฟันฝัง

ฟันคุด คือ ฟันที่ไม่สามารถขึ้นได้ตามปกติในช่องปาก อาจขึ้นมาเพียงบางส่วน หรือฝังอยู่ด้านใต้ ในทิศทางที่แตกต่างกัน ปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่อฟันพยายามงอกขึ้นมา ทำให้เกิดแรงดันเบียดซี่ข้างเคียง มีเศษอาหารเข้าไปติด ทำความสะอาดได้ยาก จนเกิดอาการปวด หากปล่อยไว้โดนไม่ทำการรักษาอาจทำให้เกิดการผุของฟันจากการเบียดจนเป็นเหตุให้สูญเสียฟันเพิ่มเติมได้

ในคนไข้บางคนที่ฟันคุดสามารถขึ้นได้ปกติ แต่ในบางกรณีทันตแพทย์อาจแนะนำให้ถอน เนื่องจากอาจส่งผลต่อการบดเคี้ยว การรักษาความสะอาด ทำให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาได้ หรือกรณีต้องทำการจัดฟัน

 

สาเหตุทีต้องผ่าฟันคุด ฟันฝัง

  1. ทันตกรรมป้องกัน เพื่อป้องกันปัญหาต่าง ๆ ที่อาจตามมาในอนาคต
  2. ไม่มีประโยชน์ในการใช้งาน และอาจก่อปัญหาต่าง ๆ
  3. เกิดการเบียดฟันซี่ข้างเคียง ซึ่งอาจทำให้เกิดการผุ มีเศษอาหารลงไปติด
  4. เกิดโรคเหงือก เนื่องจากเมื่อฟันคุดโผลขึ้นมา จะทำให้เกิดช่องที่เศษอาหาร เชื้อแบคทีเรียเข้าไปบริเวณใต้เหงือกได้
  5. จัดฟัน เนื่องจากฟันคุดอาจส่งผลต่อการเคลื่อนฟัน ส่งผลให้ไม่สามารถจัดฟันตามแผนได้

 

ขั้นตอนการผ่าฟันคุด ฟันฝัง

  1. ทำการตรวจภายในช่องปาก ร่วมกับการเอกซ์เรย์ (X-Ray) ดูตำแหน่ง ทิศทางของฟัน เพื่อการวางแผนในการผ่าฟันคุด หรือฟันฝัง
  2. ฉีดยาชาในบริเวณที่จะทำการผ่าฟัน เพื่อให้คนไข้ไม่รู้สึกเจ็บขณะทำการผ่าฟัน
  3. ทำการเปิดเหงือก อาจมีการตัดแบ่งฟันให้มีขนาดเล็กลง และค่อย ๆ นำชิ้นส่วนของฟันออกมาจนหมด แล้วจึงล้างทำความสะอาดแผล และเย็บปิดแผลไว้
  4. ทันตแพทย์จะนัดเช็คแผล และตัดไหม หลังจากการผ่าฟันประมาณ 7-14 วัน

หลังการผ่าฟันในบางครั้ง อาจมีการปวด บวมได้ ช่วง 1-3 วันแรก และจะค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งคนไข้สามารถบรรเทาอาการด้วยยาแก้ปวด และรับประทานยาตามที่ทันตแพทย์จ่ายให้

 

 

การเสริมกระดูก

การเสริมกระดูก คือ การปลูกถ่ายกระดูก ไม่ว่าจะเป็นกระดูกของคนไข้เอง หรือกระดูกเทียม เพื่อแก้ปัญหาความหนาของกระดูกขากรรไกรไม่เพียงพอ เช่น กรณีฝังรากฟันเทียม

 

ทำไมต้องเสริมกระดูก

ในคนไข้ที่ต้องการทำรากฟันเทียม บางครั้งพบว่าความหนาของกระดูกไม่เพียงพอ เนื่องจากเกิดการละลายตัวของกระดูกขากรรไกรหลังการถอนฟัน ทำให้ไม่สามารถรองรับรากฟันเทียมได้ และอาจส่งผลต่อโครงหน้าของคนไข้ ทำให้ดูแก่กว่าวัยได้

 

การประเมินความจำเป็นในการปลูกกระดูก

ในการวางแผนเพื่อทำรากฟันเทียมนั้น ทันตแพทย์จะประเมินความพร้อมของกระดูกขากรรไกร ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีที่ช่วยยืนยันได้ละเอียดแม่นยำที่สุด คือ การเอกซ์เรย์ดิจิตอล 3 มิติ (CT-Scan) ซึ่งจะทำให้ทราบถึงขนาด โครงสร้าง ของกระดูกได้ชัดเจน

 

การปลูกกระดูกเพื่อรองรับรากฟันเทียม

ในกรณีที่ทันตแพทย์ประเมินแล้วว่าคนไข้ต้องทำการปลูกกระดูกเพื่อรองรับรากฟันเทียม จะมีการทำ 2 รูปแบบ

  1. การปลูกกระดูกพร้อมผ่าตัดฝังรากฟันเทียม โดยหากทันตแพทย์ประเมินแล้วว่าสามารถทำพร้อมกันได้ ก็จะทำการปลูกกระดูกในขั้นตอนต่อจากการผ่าตัดฝังรากฟันเทียมในทันที ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาคนไข้ ลดระยะเวลารอคอย และคนไข้เจ็บตัวเพียงครั้งเดียว
  2. การปลูกกระดูกก่อน และผ่าตัดฝังรากฟันเทียมในภายหลัง ในกรณีกระดูกคนไข้บาง หรือเหลือน้อยจนไม่สามารถทำการผ่าตัดฝังรากฟันเทียมพร้อมกับการปลูกกระดูกได้ ทันตแพทย์จะทำการปลูกกระดูกเพิ่มในบริเวณดังกล่าวก่อน และรอให้กระดูกยึดติดแน่น เพื่อให้มีความหนาเพียงพอรองรับรากฟันเทียมต่อไป

 

 

การผ่าตัดยกไซนัส

ในกรณีคนไข้ที่โพรงไซนัส ซึ่งอยู่บริเวณไกล้ปลายรากฟันของฟันกล้ามบน โดยหากฟันบริเวณดังกล่าวถูกถอนไปจนกระดูกเกิดการละลายตัว ยุบตัว ส่งผลให้ความสูงของกระดูกไม่เพียงพอต่อการฝังรากฟันเทียม จึงจำเป็นต้องทำการผ่าตัดยกไซนัสร่วมกับการผ่าตัดฝังรากฟันเทียม

การผ่าตัดยกไซนัส คือ การผ่าตัดเพื่อยกเยื้อหุ้มโพรงไซนัสให้สูงขึ้น และนำกระดูกเสริมทดแทนบริเวณช่องว่างดังกล่าว เป็นการเพิ่มความสูงของกระดูกขากรรไกรในบริเวณดังกล่าว เพื่อทำการผ่าตัดฝังรากฟันเทียมต่อไปโดยอาจทำพร้อมการผ่าตัดฝังรากฟันเทียม หรือทำก่อนการฝังรากฟันเทียม ขึ้นอยู่กับการประเมินของทันตแพทย์

ในปัจจุบันมีเทคนิคการยกไซนัสโดยสามารถวางแผนทำการยกไซนัสพร้อมฝังรากฟันเทียมได้ โดยอาศัยเพียงรูขนาดเล็กในตำแหน่งรากฟันเทียม

 

 

การผ่าตัดขากรรไกรร่วมกับการจัดฟัน

การผ่าตัดขากรรไกรร่วมกับการจัดฟัน เป็นการรักษาความผิดปกติในรูปแบบที่การจัดฟันปกติไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เนื่องจากปัญหาเกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างในหน้า และขากรรไกร เช่น คางยื่น ฟันยื่นมาก หน้าเบี้ยว ค้างเบี้ยว ปัญหาในการสบฟันผิดปกติ

โดยเป็นเคสที่มีความซับซ้อน และต้องมีการวางแผนอย่างละเอียดโดยทันตแพทย์เฉพาะทาง

FAQ ศัลยกรรมช่องปาก

กรณีปวดฟัน ไม่ถอนฟันได้ไหม ?

ในกรณีที่สามารทำการรักษาได้ด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น รักษารากฟัน ทันตแพทย์จะแนะนำให้คนไข้ทำการรักษา และเก็บรักษาฟันธรรมชาติไว้

หากทันตแพทย์แนะนำให้ถอนฟัน ไม่ถอนได้ไหม ?

ในบางกรณี เช่น โรคเหงือก ฟันเสียหายรุนแรง แนะนำให้ทำตามคำแนะนำของทันตแพทย์ เนื่องจากหากปล่อยไว้อาจส่งผลเสียอื่น ๆ ตามมา

ถอนฟันเจ็บไหม ?

ในขั้นตอนการถอนฟันจะทำภายใต้ยาชา คนไข้จึงจะไม่รู้สึกเจ็บ อาจจะรู้สึกหน่วง ๆ ตึง ๆ ได้จากการนำฟันออก และหลังการถอนฟันอาจมีอาการเจ็บแผล 1-3 วัน ซึ่งสามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการรับประทานยาแก้ปวดที่ทันตแพทย์จ่ายให้

ข้อควรระวัง ในการถอนฟัน ?

ในกรณีคนไข้มีโรคประจำตัว หรือรับประทานยาบางประเภท ควรแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบ เพื่อประเมินความเสี่ยงจากการถอนฟัน และวางแผนการรักษาอย่างถูกต้อง ปลอดภัย

อายุเท่าไรจึงเริ่มมีฟันคุด และควรผ่าตอนอายุเท่าไร ?

โดยส่วนมากฟันคุดจะค่อย ๆ โผลขึ้นมาในช่วงวัยประมาณ 18-20 ปี ซึ่งแนะนำให้พบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพฟันทุก 6 เดือน อาจมีการเอกซ์เรย์เพื่อประเมินการเจริญเติบโตล่วงหน้า

โดยช่วงอายุประมาณ 18-25 ปี เป็นช่วงที่แนะนำให้ทำการผ่า เนื่องจากสามารถทำได้ง่าย ฟื้นตัวเร็ว แผลหายเร็ว และผลแทรกซ้อนต่าง ๆ ต่ำกว่า

ผ่าฟันคุดเจ็บไหม ?

ขณะผ่าฟันคุดจะมีการฉีดยาชา คนไข้จึงไม่รู้สึกเจ็บขณะทำ อาจจะรู้สึกหน่วง ๆ ตึง ๆ ได้บ้าง และอาจรู้สึกสะเทือนจากการกรอแบ่งฟัน เนื่องจากวิธีการถอนฟันคุดจะขึ้นอยู่กับความยากง่ายในการถอน จากตำแหน่งของฟันที่อาจล้ม เอียง ฯลฯ

หลังผ่าฟันคุดอาการปวด บวม และแผลหายในกี่วัน ?

หลังผ่าฟันคุดอาจมีอาการปวด บวมบริเวณแผลและแก้มประมาณ 2-3 วัน แต่ละค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งอาการดังกล่าวสามารถบรรเทาได้ด้วยการรับประทานยาแก้ปวด ร่วมกับยาที่ทันตแพทย์จ่ายให้ และโดยปกติจะหายสนิดใน 2 สัปดาห์ ซึ่งครบกำหนดตัดไหมตามนัดหมาย

ฟันคุดหากไม่ปวด ไม่ถอน/ผ่า ได้ไหม ?

โดยปกติทันตแพทย์จะแนะนำให้ทำการถอน / ผ่าออก เนื่องจากเป็นการป้องกันปัญหาในอนาคต ซึ่งหากส่งผลต่อฟันซี่อื่น ๆ และอายุมากขึ้นจะสามารถทำได้ยากขึ้น

ในการปลูกกระดูก กระดูกที่นำมาปลูกคือวัสดุอะไร ?

ในการปลูกกระดูก หลัก ๆ จะใช้วัสดุ 2 กลุ่ม

  1. กระดูกของคนไข้เอง ซึ่งข้อดีคืออัตราสำเร็จสูง แต่คนไข้ต้องเจ็บตัว 2 ตำแหน่ง
  2. กระดูกเทียม ซึ่งทำมาจากกระดูกสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ หรือกระดูกสังเคราะห์ โดยเทคโนโลยีเฉพาะ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่นิยมมากกว่า เนื่องจากไม่ต้องเจ็บตัว 2 ตำแหน่ง และด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันทำให้อัตราสำเร็จสูงขึ้นมาก