การรักษารากฟัน (Root Canal Treatment) คือวิธีหนึ่งในการรักษาการปวดจากการติดเชื้อ และอักเสบภายในฟันโดยไม่จำเป็นต้องถอนฟัน เพื่อเก็บรักษาฟันไว้ให้ยาวนานที่สุด โดยการกำจัดเนื้อเยื้อภายในโพรงประสาทฟันที่ติดเชื้อออกไป และทำความสะอาดภายในคลองรากฟันด้วยเครื่องมือขยายคลองรากฟัน รวมกับการล้างทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ และใส่ยาฆ่าเชื้อภายในฟัน ให้ปราศจากเชื้อ และทำการบูรณะฟันต่อไป
ทำไมต้องรักษารากฟัน
เมื่อเกิดฟันผุลึกลงไปถึงโพรงประสาทฟัน หรือได้รับการกระทบกระเทือนรุนแรง จะมีอาการปวด โดยเฉพาะเมื่อรับประทานของร้อน ของเย็น หรือเมื่อมีเศษอาหารเข้าไปอุดบริเวณที่ผุ ซึ่งอาการในช่วงแรกจะไม่รุนแรงนัก เมื่อรับประทานยาแก้ปวดก็จะทุเลา และหายไปได้เอง แต่ถ้าปล่อยไว้จนเนื้อเยื้อภายในโพรงประสาทฟันติดเชื้อ อักเสบ เน่า ตาย ในที่สุดก็จะลุกลามไปถึงปลายรากฟัน รวมถึงบริเวณรอบปลายราก เกิดเป็นวงหนองในบริเวณดังกล่าว อาจมีหนอง หรือตุ่มหนองในบริเวณฟัน ในระยะนี้จะเกิดอาการปวดมากเมื่อเคี้ยวอาหาร หรือกัดฟัน หากไม่ได้ทำการรักษาอาจเกิดการติดเชื้อแพร่กระจายไปได้
การรักษาเพื่อเก็บฟันธรรมชาติไว้โดยไม่ต้องถอนฟันซี่นั้น ๆ ทิ้ง คือการรักษาคลองรากฟัน
สาเหตุที่ทำให้ต้องได้รับการรักษารากฟัน
- ฟันผุขนาดใหญ่ จนทำให้เชื้อโรคทะลุถึงโพรงประสาทฟัน
- มีการกัด เคี้ยวแรง เคี้ยวโดนของแข็ง การนอนกัดฟัน ซึ่งอาจกระทบกระเทือนโพรงประวาทฟัน หรือฟันร้าวเป็นเหตุให้เชื้อโรคซึมเข้าโพรงประสาทฟัน
- เกิดอุบัติเหตุ หรือ ฟันได้รับการกระทบรุนแรง ฟันแตก หัก ทะลุโพรงประสาทฟัน
- ปัญหาโรคเหงือก
ข้อดีของการรักษารากฟัน เมื่อเทียบกันการถอนฟันทิ้ง
- เพื่อเก็บรักษาฟัน และรากฟันธรรมชาติไว้ ซึ่งเป็นสิ่งมีค่า และมีประสิทธิภาพดีที่สุด แข็งแรงที่สุด ไม่มีวิธีใส่ฟันใดทดแทนฟันธรรมชาติได้ 100%
- การเคี้ยวอาหารให้ความรู้สึกที่ดี เคี้ยวสนุก เคี้ยวมัน เนื่องจากฟันธรรมชาติจะมีเส้นประสาทมาเลี้ยงตัวฟันทำให้สามารถรับความรู้สึกได้
- ดูแลทำความสะอาดง่ายกว่า เนื่องจากหลังการรักษารากฟันแล้วนั้น ฟันจะมีสภาพเหมือนฟันแท้ตามธรรมชาติ
- ไม่ก่อให้เกิดปัญหาต่อฟันซี่ข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น เช่น ฟันบิด ฟันล้ม โรคเหงือก ฯลฯ
ดังนั้น ถ้าหากประเมินแล้วสามารถเก็บรักษาฟันแท้ไว้ได้ ทันตแพทย์จึงแนะนำให้ทำการรักษารากฟัน และเก็บไว้ใช้งาน
ขั้นตอนการรักษารากฟัน
- ทันตแพทย์จะทำการใช้แผนยางกันน้ำลาย (Rubber Dam) เพื่อแยกฟันที่มีปัญหาออกจากฟันซี่อื่น ๆ และใช้ยาชาเพื่อให้คนไข้ไม่รู้สึกเจ็บขณะรักษา โดยกรอฟันเปิดเข้าไปยังโพรงประสาทฟัน โดยใช้เครื่องมือเฉพาะ
- กรอกำจัดรอยฟันที่เสียหายจากการผุ กำจัดเนื้อเยื่อที่อักเสบ รวมถึงทำความสะอาดเชื้อโรคภายในโพรงประสาทฟันและคลองรากฟันออกให้หมดใส่ยาฆ่าเชื้อลงไปในคลองรากฟัน และอุดปิดด้วยวัสดุอุดชั่วคราวไว้เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ ในคนไข้ที่มีการติดเชื้อรุนแรงอาจต้องมีการเปลี่ยนยาในคลองรากฟันมากกว่า 1 ครั้ง
- เมื่อไม่มีการอักเสบ และทำความสะอาดภายในคลองรากฟันแล้ว จะทำการอุดปิดคลองรากฟันด้วยวัสดุเฉพาะ (Gutta Percha) เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำในภายหลัง
- บูรณะความแข็งแรงด้วยวัสดุอุดแกนฟัน เดือยฟัน เพื่อเสริมความแข็งแรงของเนื้อฟันที่หายไปในขั้นตอนการรักษา และครอบฟันเพื่อให้ฟันกลับมาแข็งแรงเสมือนฟันปกติ
การป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อภายในฟัน จนต้องรักษารากฟัน
- พบทันตแพทย์เป็นประจำทุก 6 เดือน เพื่อตรวจเช็คฟัน อุดฟัน ขูดหินปูนอยู่เสมอ
- ทำความสะอาดฟันให้ดีเพื่อลดคราบหินปูน และเชื้อโรคสะสมจนเป็นเหตุของโรคเหงือก
- เลี่ยงการเคี้ยวของแข็ง ซึ่งมีความเสี่ยงทำให้ฟันแตกร้าวได้
- หากมีปัญหานอนกัดฟัน ควรปรึกษาทันตแพทย์เพื่อป้องกันปัญหาฟันแตกร้าว โดยอาจมีการทำเฝือกสบฟันใส่เพื่อช่วยลดแรงกระแทก