รากฟันเทียม (Dental implant) คือ วัสดุที่ผลิตจากไทเทเนียม (Titanium) ที่ออกแบบเป็นพิเศษให้มีรูปร่างคล้ายรากฟัน สามารถเข้ากับร่างกายของคนไข้ได้ดี โดยฝังลงไปยึดติดแน่นกับกระดูกขากรรไกรของคนไข้ได้อย่างแนบแน่น โดยไม่ทำให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อ ทำหน้าที่ทดแทนรากฟันธรรมชาติ เพื่อรองรับการใส่ฟันเพื่อทดแทนฟันที่สูญเสียไปตั้งแต่ 1 ซี่ หลายซี่ หรือทั้งปาก เป็นการใส่ฟันทดแทนมีประสิทธิภาพไกล้เคียงฟันแท้ธรรมชาติมากที่สุด
หากไม่มีการใส่ฟันทดแทนจะเป็นอย่างไร
- ประสิทธิภาพในการบดเคี้ยวอาหารลดลง ความสวยงามหายไป ขาดความมั่นใจ โดยเฉพาะบริเวณฟันหน้า
- ฟันซี่ข้างเคียงจะเคลื่อนเข้ามาปิดช่องว่าง ทำให้เกิดปัญหาฟันล้ม ฟันเอียง เกิดการผุ และโรคเหงือกได้ง่ายนำไปสู่การสูญเสียฟันเพิ่มขึ้นในอนาคต
- ฟันคู่สบจะเคลื่อนเข้ามายังช่องว่าง ทำให้ฟันยืดยาว คอฟัน อาจจะโผลพ้นเหงือก ทำให้เกิดอาการเสี่ยวฟัน ฟันโยก กัดเหงือก นำไปสู่การสูญเสียฟันได้ในอนาคต
- ฟันที่เหลือจำนวนน้อยจะต้องรับแรงในการบดเคี้ยวมากขึ้น ส่งผลให้เกิดปัญหาฟันแตก ฟันหักได้ในอนาคต
ข้อดี – ข้อจำกัดในการทำรากฟันเทียม
ข้อดี
- ให้ประสิทธิภาพที่ดีทั้งด้านการบดเคี้ยว และความสวยงาม
- เป็นการใส่ฟันทดแทนแบบติดแน่นทำให้ไม่มีปัญหาฟันหลวม หลุด แบบฟันปลอมถอดได้
- ไม่ต้องเสียเนื้อฟันซี่ข้างเคียงแบบการทำสะพานฟัน
- ไม่มีปัญหาด้านการออกเสียง เมื่อเทียบกับฟันปลอมชนิดอื่น ๆ
- เสริมสร้างบุคลิก เพิ่มความมั่นใจมากขึ้น
ข้อจำกัด
- มีราคาสูงเมื่อเทียบกับฟันปลอมอื่น ๆ
- อาจไม่สามารถทำได้ในผู้ที่มีโรคประจำตัวบางโรค (โปรดปรึกษาทันตแพทย์อีกครั้ง)
- ในคนที่มีการสูบบุหรี่ หรือดื่มสุราจัด อาจมีความเสี่ยงในการทำรากฟันเทียม
ส่วนประกอบของรากฟันเทียม
รากฟันเทียมประกอบด้วย 3 ส่วน
- Implant body or Fixture คือ ส่วนของรากฟันเทียมไทเทเนียม ที่ฝังลงไปในกระดูกขากรรไกรคนไข้ เพื่อทำหน้าที่ทดแทนรากฟันธรรมชาติ
- Abutment คือ ส่วนที่ทำหน้าที่ยึดระหว่างรากฟันเทียมและครอบฟัน โดยทันตแพทย์จะออกแบบให้เหมาะสมกับตำแหน่ง ทิศทางของฟันคนไข้
- Prosthetic Component คือ ส่วนของครอบฟัน (Crown) หรือ สะพานฟัน (Bridges) เป็นส่วนที่ทำหน้าที่ทดแทนตัวฟัน 1 ซี่ หรือ มากกว่า เป็นส่วนที่มองเห็นได้ภายในช่องปากคนไข้ มักทำจากเซรามิกเพื่อให้เกิดความสวยงาม และมีประสิทธิภาพในการบดเคี้ยว
เทคนิคการผ่าตัดฝังรากฟันเทียม
- การฝังรากฟันเทียมภายใน 1 วัน (One Day Implant) คือ การฝังรากฟันเทียม และทำครอบฟันชั่วคราวใส่ทันทีในวันเดียวกัน หรือฝังรากฟันเทียมทันทีหลังการถอนฟันพร้อมครอบฟัน มักทำในตำแหน่งที่ต้องการความสวยงาม สามารถยิ้มได้อย่างมั่นใจทันทีภายในวันเดียว แต่จะมีข้อจำกัดและค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าการทำรากฟันเทียมแบบอื่น ๆ
- การฝังรากฟันเทียมแบบทันที (Intermediate Implant) คือ การฝังรากฟันเทียมทันทีหลังจากการถอนฟัน (ถอนฟันแล้วฝังรากฟันเทียมแทนที่ในทันที) สามารถทำในบางเคสที่ไม่มีอาการอักเสบในบริเวณที่จะทำรากฟันเทียม ข้อดีคือคนไข้เจ็บตัวเพียงครั้งเดียว ลดระยะเวลาการรอคอยหลังการถอนฟัน
- การทำรากฟันเทียมแบบทั่วไป (Conventional Implant) คือ เทคนิคที่นิยมใช้โดยทั่วไปทำในคนไข้ที่ถอนฟันมาแล้ว (หลังถอนฟันแนะนำให้แผลหายประมาณ 3-6 เดือน) หรือในคนไข้ที่สูญเสียฟันมาเป็นเวลานาน
ความจำเป็นอื่น ๆ ที่ต้องพิจารณาร่วมกับการทำรากฟันเทียม
เมื่อเริ่มต้นวางแผนทำรากฟันเทียมแล้วนั้น ทันตแพทย์จะมีปัจจัยต่าง ๆ ที่ต้องนำมาพิจารณาร่วมด้วย เพื่อความสำเร็จในการทำรากฟันเทียม อาทิเช่น
- ความหนาของกระดูก คือ ในบางเคสที่โครงสร้างขากรรไกรบาง หรือ ถอนฟันมาเป็นระยะเวลานานจะเกิดการละลายตัวของกระดูกในบริเวณดังกล่าว อาจต้องพิจารณาปลูกกระดูกเพื่อรองรับรากฟันเทียม
- ภาวะโพรงอากาศ หรือ โพรงไซนัสต่ำ คือ ในกรณีคนไข้มีภาวะโพรงไซนัสย้อยลงต่ำ หรืออยู่ไกล้ขากรรไกรมาเกินไป ทำให้ความหนาของกระดูกเพื่อรองรับรากฟันเทียมในฟันบนไม่เพียงพอ อาจต้องทำร่วมกับการผ่าตัดยกไซนัส ปลูกกระดูกเทียมเข้าระหว่างกระดูกขากรรไกรและโพรงอากาศ
- ภาวะโรคเหงือก คือ ในคนไข้ที่มีภาวะโรคเหงือก หรือ โรครำมะนาด ซึ่งจะรบกวนการยึดติดของรากฟันเทียม ทำให้แผลหายช้า มีโอกาสติดเชื้อ และเพิ่มอัตราการละลายของกระดูก อาจต้องพิจารณาทำการรักษาโรคเหงือกร่วมด้วย
- การติดเชื้อในฟันซี่ข้างเคียง คือ ในคนไข้ที่มีการติดเชื้อในโพรงประสาทฟัน หรือปลายรากฟัน ซึ่งจะรบกวนการยึดติดของรากฟันเทียม อาจจำเป็นต้องรักษารากฟันในฟันซี่ที่มีปัญหา
การวางแผนรากฟันเทียม ระบบดิจิตอล
ในปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีการวางแผนรากฟันเทียมในระบบดิจิตอล 3 มิติ เข้ามาช่วยในการกำหนดตำแหน่งรากฟันเทียม ให้อยู่ในตำแหน่ง ทิศทาง องศาที่ดีที่สุดสำหรับคนไข้ เพื่อให้ผลสำเร็จของการรักษาสูงสุด อายุการใช้งานรากฟันเทียมยาวนานยิ่งขึ้นจากการรับแรงที่เหมาะสม ลดระยะเวลา บาดแผล และความเจ็บของคนไข้ เนื่องจากในบางเคสอาจเปิดแผลเป็นรูขนาดเล็กเพื่อฝังรากฟันเทียม ซึ่งการวางแผนในระบบดิจิตอลมาช่วยในเคสต่าง ๆ เช่น
- เคสที่ตำแหน่งรากฟันเทียมไกล้เส้นประสาท
- เคสที่ตำแหน่งรากฟันเทียมติดกับโพรงไซนัส
- เคสที่ต้องมีการยกไซนัส เผื่อผ่าตัดฝังรากฟันเทียม
- เคสที่กระดูกบาง ป้องกันความเสียงรากเทียมหลุดออกนอกกระดูก ลดการปลูกกระดูก
- เคสที่ช่องว่างมีขนาดเล็ก ตำแหน่งรากเทียมไกล้รากฟันซี่ข้างเคียง
- เคสรากเทียมจำนวนหลายซี่ หรือ ทั้งปาก
โดยหลังจากมีการออกแบบโปรแกรมเฉพาะแล้ว จะทำการสั่งผลิตชิ้นงาน Digital Srugical Guide ขึ้นมาโดยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ซึ่งเป็นการผลิตเฉพาะบุคคล ในการช่วยกำหนดตำแหน่งรากฟันเทียมในการผ่าตัดฝังรากฟันเทียม ซึ่งทางคลินิกได้ทำเทคโนโลยีนี้เข้ามาให้บริการคนไข้ เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการให้การรักษา
ขั้นตอนการทำรากฟันเทียม
ขั้นตอนพื้นฐานในการทำรากฟันเทียม อาจมีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับแผนการรักษาของทันตแพทย์อีกครั้ง
- ปรึกษาทันตแพทย์ และ CT-Scan : (ระยะเวลา 30-60 นาที) โดยตรวจภายในช่องปาก ร่วมกับการเอกซเรย์ 3 มิติ (CT-Scan) เพื่อประเมินความเป็นไปได้ และความพร้อมในการผ่าตัดฝังรากฟันเทียม โดยพิจารณาดูความหนาของเหงือก ความสูง-ความหนาของกระดูกขากรรไกร สภาพของฟันข้างเคียง โดยคนไข้จะทราบถึงแนวทางการรักษาที่เฉพาะเจาะจงกับตนเอง ในบางเคสอาจทำร่วมกับการแสกนฟัน 3 มิติ เผื่อการวางแผนแบบดิจิตอล
- ผ่าตัดฝังรากฟันเทียม : (ระยะเวลา 45-120 นาที) การผ่าตัดฝังรากฟันเทียมจะทำภายใต้ยาชาเฉพาะจุด คนไข้จะไม่รู้สึกเจ็บขณะทำการผ่าตัด ในขั้นตอนนี้เป็นการฝังตัวรากฟันเทียมไทเทเนียม (Fixture) เข้าไปในกระดูกขากรรไกร หากจำเป็นต้องมีการปลูกกระดูก หรือหัตถการอื่น ๆ ร่วมด้วยก็จะทำพร้อมกันในขั้นตอนนี้
- นัดตัดไหม และเช็คแผลผ่าตัด : (ระยะเวลา 15-30 นาที)หลังจากการผ่าตัดประมาณ 14 วัน จะทำการนัดตัดไหม และตรวจเช็คความเรียบร้อยของแผล ในบางเคสที่เป็นตำแหน่งเพื่อความสวยงามทันตแพทย์อาจพิจารณาใส่ฟันปลอมชั่วคราวในขั้นตอนนี้
- รอรากฟันเทียมยึดติดแน่น : (ระยะเวลา 3-6 เดือน) หลังจากทำการผ่าตัดฝังรากฟันเทียมแล้วนั้น จะมีช่วงเวลารอให้รากฟันเทียมไทเทเนียมยึดติดแน่นกับกระดูกขากรรไกร พร้อมที่จะรองรับแรงบดเคี้ยวจากการทำฟันปลอมทดแทนฟันธรรมชาติ โดยในช่วงเวลานี้คนไข้จะยังไม่มีการใส่ฟันในบริเวณที่ทำรากฟันเทียม เนื่องจากตัวรากฟันเทียมยังแข็งแรงไม่มากพอ
- ทำครอบ และใส่ฟัน : (ระยะเวลา 30-60 นาที 2 ครั้ง) เมื่อคุณหมอประเมินแล้วว่ารากฟันเทียมยึดติดแน่นพร้อมรองรับการทำครอบฟันตัวจริง ก็จะทำการนัดคนไข้เข้ามาเพื่อแสกนฟัน 3 มิติ และเตรียมการผลิตครอบฟัน (Abutment และ Crown) ที่ออกแบบมาเฉพาะกับคนไข้ และนัดหมายเพื่อใส่ฟันต่อไป
หลังเสร็จสิ้นการทำรากฟันเทียมแล้วนั้น แนะนำตรวจเช็คฟันทุก 6 เดือน เพื่อสุขภาพฟันที่ดี และบำรุงรักษารากฟันเทียมให้มีอายุการใช้งานยาวนาน
การดูแลรักษารากฟันเทียม
- เพื่อสุขภาพฟันที่ดีควรพบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน เพื่อตรวจเช็ครากฟันเทียม ขูดหินปูน อุดฟัน ตามความจำเป็น เพื่อดูแลสุขภาพฟัน ช่องปาก และรากฟันเทียมให้แข็งแรงอยู่เสมอ
- ทำความสะอาดอย่างถูกวิธี เช่น เทคนิคการแปรงฟัน ร่วมกับการใช้ไหมขัดฟัน เพื่อขจัดเศษอาหาร คราบแบคทีเรียที่ติดบริเวณรากฟันเทียม และเหงือก
- ระวังในการเคี้ยวของแข็ง แม้รากฟันเทียมจะมีความแข็งแรงไกล้เคียงฟันแท้ แต่ขณะเคี้ยวจะไม่มีรู้สึกเหมือนฟันแท้ อาจะเกิดความเสียหายได้ คนไข้จึงต้องระวังในการบดเคี้ยงของแข็ง